วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มิวเซียมสยาม


กว่าจะเป็นประเทศไทย                                                                                                                                               
                         กับมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้      


                จากอดีตสู่ปัจจุบัน จากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศถึงประเทศไทย มาร่วมก้าวย้อนหลังทางความคิดกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ครั้งก่อนกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่จะคุณให้เข้าใจอดีตกาลอย่างเพลิดเพลิน
                เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสนั่งรถเมล์กินลมชมวิวไปรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวนมีทั้งร้อน ทั้งฝน ชวนให้เหนื่อยล้าในการเดินทาง เป้าหมายในครั้งนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อเกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความสนุกสนานในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ “มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้”
                มิวเซียมสยามตั้งอยู่บริเวณท่าเตียน ถนนสนามไชย ไม่ไกลจากวัดโพธิ์เพียงแค่เดินไม่ทันเหนื่อยก็จะถึง มิวเซียมสยามมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนคือ เน้นการจัดนิทรรศการที่จะกระตุกต่อมความคิด และจุดประกายความอยากรู้ ทำให้คุณเกิดการตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น แล้วนำไปสู่การสืบค้นหาความรู้ด้วยตนเองภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต่อไป ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย(วัตถุ) และใจ(จิต) ของคุณเอง
                ภายในเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ของมิวเซียมสยามประกอบด้วยอาคารหลัก 3 อาคาร คือ อาคารนิทรรศการถาวร  อาคารนิทรรศการชั่วคราว และอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาในห้องแสดงนิทรรศการถาวร เป็นการแสดงนิทรรศการร้อยเรียงประวัติศาสตร์ในชื่อว่า “เรียงความประเทศไทย” ถือเป็นความโชคดีที่เราได้ไปในวันนี้ เพราะถ้าเป็นวันอื่นเราคงจะต้องเสียค่าเข้าชม 50 บาท อย่างนี้ใช่ไหมที่เขาพูดกันว่าสวรรค์เข้าข้าง มิวเซียมสยามจะเปิดให้บริการวันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 10.00 - 18.00 น. วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่นี่เขาไม่ปิด แต่จะปิดเฉพาะวันจันทร์เท่านั้น (ขอเวลาพักผ่อนนิดหน่อย) ไม่พูดพร่ำทำเพลงดีกว่า ขอเชิญทุกท่านรับความรู้จากมิวเซียมสยามจากไกด์จำเป็นได้เลย
                เนื้อหาในห้องนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” แบ่งออกเป็นห้องทั้งหมด 17 ห้อง เริ่มจากห้องที่ 1 : เบิกโรง เบิกตัวละครทั้ง 7 ที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดจากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศถึงประเทศไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราเป็นใคร และอะไรคือไทย 

               

                 ห้องที่ 2 : ไทยแท้ กระตุ้นความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร   และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้ จากนั้นเราก็เดินขึ้นบันไดไปชั้นที่ 3 ต่อกันที่ 



           

                ห้องที่ 3 : เปิดตำนานสุวรรณภูมิ แสดงถึงวิวัฒนาการสังคมก่อนจะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “สุวรรณภูมิ” คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้มีกรุงเทพฯ ที่ยังนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการศึกษาโครงกระดูก หลุมฝังศพ และอารยธรรมที่ฝังอยู่ใต้ดินทำให้รู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น
                ห้องที่ 4 : สุวรรณภูมิ ทำความรู้จักกับ “สุวรรณภูมิ” ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อ(ผี-พราหมณ์-พุทธ) ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสุวรรณภูมิคือ รากเหง้าของประเทศไทย              
                ห้องที่ 5 : พุทธิปัญญา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งมี คาถา เย ธมฺมา แปลว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด คาถายอดนิยมแห่งสุวรรณภูมิ มูลเหตุแห่งความใจกว้างและสันติ
                ห้องที่ 6 : กำเนิดประเทศไทย นำเสนอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดนานาแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นนครรัฐ และสืบสานเรื่องราวของวีรบุรุษผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจากตำนานท้าวอู่ทอง เรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

















                              ห้องที่ 7 : สยามประเทศไทย กรุงศรีอยุธยามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และด้วยอำนาจทางการเมืองที่กว้างไกล ทำให้สามารถควบคุมการผลิตภายในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล จึงพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศุนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาค และสืบเนื่องจากการติดต่อค้าขายที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม เกิดเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ภาษา และสถาปัตยกรรม

                ห้องที่ 8 : สยามยุทธ์ เหตุแห่งสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลเหตุใหญ่ ๆ คือ ความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ในฐานะพระจักรพรรดิ เหนือพระเจ้าแผ่นดิน และเพื่อกวาดต้อนคนอันเป็นแรงงานและกำลังรบ รวมถึงการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐต่อรัฐ หากเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์รัฐหนึ่งกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และนอกจากการสู้รบแล้วยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา การวางกลยุทธ์ กลุ่มชาติพันธุ์ และศิลปกรรมอีกด้วย จากนั้นก็เดินลงมายังชั้น 2 ที่ห้องที่ 9 กันต่อเลย
                ห้องที่ 9 : ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ ผืนดินแดนธรรมชาติ คงไม่มีเส้นแบ่งใด ๆ มาขวางกั้นผู้คน แต่เส้นพรมแดนก็ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ล่าอาณานิคมเพื่อแบ่ง เขา สร้าง เรา และรวมไปถึงการสร้าง ชาติ ให้มีตัวตนขึ้นมาจริง ๆ มูลเหตุที่ทำให้เกิดการตัดแบ่งชุมชน เชื้อชาติ ญาติพี่น้องออกจากกัน
                ห้องที่ 10 : กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา เรื่องราวเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีฯก็สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่บนผืนดิน “บางกอก” ซึ่งพวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย อีกทั้งเมื่อเริ่มสร้างกรุงใหม่ จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จจึงลงหลักปักฐานกลายเป็นชาวกรุงเทพฯ ในที่สุด
                ห้องที่ 11 : ชีวิตนอกกรุงเทพฯ สื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และความฉลาดหลักแหลม ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์การดักสัตว์ เครื่องมือทำกิน ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะแห่งการสร้างสรรค์ และวิถีเกษตรที่ผูกพันกับชาวสยามมาจนถึงทุกวันนี้
                ห้องที่ 12 : แปลงโฉมสยามประเทศ การติดต่อกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในสังคมสยามหลายด้าน การเริ่มสร้างถนน ไม่เพียงแต่เปลายนวิถีการคมนาคมเท่านั้น หากยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า นับจากนี้ถนนจะเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สยามเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล
                ห้องที่ 13 : กำเนิดประเทศไทย จากสยามทำไมกลายเป็นไทย ห้องนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาคำตอบว่า “วันเกิดประเทศไทยคือวันที่เท่าไหร่” และ “กรมโฆษณาการเกี่ยวข้องอย่างไร”
                ห้องที่ 14 : สีสันตะวันตก แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์โลกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา ภายหลังคตวามบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 1940 เศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เสียงเพลงแห่งความหวัง และสนุกสนานกล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้หมดสิ้น และประเทศไทยก็โกย ดอลล่าร์ จากการเปิดรับวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
                ห้องที่ 15 : เมืองไทยวันนี้ ผ่านกาลเวลามากว่า 3,000 ปี มีสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนฝังตรึงเป็น ดีเอ็นเอ ของความเป็นไทย มีสิ่งดี ๆ ใดบ้างที่ยังอยู่กับเรา และมีสิ่งดี ๆ ใดบ้างที่หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย ภาวะอันสับสนของคนรุ่นปัจจุบันน่าจะแก้ไขได้หากทุกคนเรียนรู้ความเป็นไทยที่แท้จริง ความเป็นไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้ นั่นคือการผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา


   

           ห้องที่ 16 : มองไปข้างหน้า เป็นห้องที่ตอกย้ำว่า วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น  ที่จะให้คำตอบได้ แล้วเราก็ลงมาสู่ชั้นแรกที่ห้อง 17
                                                                                                                


           
                ห้องที่ 17 : ตึกเก่าเล่าใหม่ ที่มาของมิวเซียมสยาม ผู้ชมสามารถเรียนรู้ทุกอย่างในมิวเซียมสยาม นับตั้งแต่ความเป็นมาและพัฒนาการของพื้นที่ในบริเวณนี้ แม้กระทั่งตัวอาคารนิทรรศการ เนื่องจากตอนบูรณะอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์(เดิม) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ได้มีการค้นพบอัจฉริยภาพของสถาปนิก และช่างในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบรากฐานของวังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงตอนกลาง
                เราก็ได้เดินทางไปกับ “ความเรียงประเทศไทย” ครบทั้ง 17 ห้อง ได้รับความรู้และความเพลิดเพลินเต็มเปี่ยมกันเลยทีเดียว แต่ถ้าจะให้ดีเราแนะนำให้ทุกท่านหาเวลาว่างได้มาสัมผัสบรรยากาศแบบนี้กันด้วยตัวเอง ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งการเรียนรู้ของคุณ
                ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ โลกที่แข่งขันกันผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ทุกวันนี้ ประเทศไทยที่มีการแบ่งแยก สมควรต้องหยิบฉวยไปศึกษาให้ลึก จะได้ทราบซึ้งว่า “กว่าจะเป็นประเทศไทย”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น