วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“บางมด” พื้นที่แห่งตำนานส้ม



http://www.payai.com/paya/main/main/main.php?mainmenu=
program&submenu=spotdetail&pid=1&spotid=413












             ผลไม้ที่อยู่ในใจของใครหลายคนคงจะต้องยกให้ส้ม และนี่คือส้มบางมดที่ครองใจคนไทยมาโดยตลอด  เพราะว่ามีเปลือกร่อน  ปลอกง่าย  ซังนิ่ม  และก็รสชาติหวานแหลม  เข้มข้นกว่าที่อื่น
            ส้มจากย่านบางมดที่แท้จริงได้หายไปจากท้องตลาดมาหลายปีแล้ว  ส้มที่เราเห็นวางขายอยู่ว่าเป็นส้มบางมดนั้น  ตอนนี้เป้นส้มที่เกิดจากพันธุ์เดียวกันที่มาจากพื้นที่อื่น  แต่ว่าเพราะอะไรส้มบางมดจึงหายไป
            ตลาดขายส้มในปัจจุบันนั้นมากมายไปด้วยส้มหลากหลายสายพันธุ์  ไม่ว่าจะเป็นส้มสายน้ำผึ้ง  ส้มโชกุน  หรือแม้แต่ส้มจากสายพันธุ์ต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดบ้านเรา  แต่ผลไม้ไทยแท้อย่างส้มบางมดนั้นกลับหาได้ยากเต็มที
            บางมดเป็นพื้นที่ติดทะเล  มีดินตะกอนทับถมกันมานานเป็นปุ๋ยชั้นดีเหมาะแก่การปลูกส้มให้ได้รสหวานอร่อย  ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวสวนคิดว่าส้มบางมดนั้นมีรสอร่อยหวานกว่าที่อื่น ส้มบางมดมีผลกลมแป้น  ผิวสีเขียวอมเหลือง  เปลือกส้มบางนิ่มไม่แข็ง  รสหวาน  เยื่อนิ่ม  ทั้งหมดนี้คือความโดดเด่นของส้มบางมดที่ไม่เหมือนใคร

            แล้วอะไรทำให้ส้มบางมดที่เคยมีมากหายไป

            ย้อนกลับไปในอดีต  ส้มบางมดปลูกมากในสวนย่านธนบุรี  ริมคลองบางมด  เขตราษฎร์บูรณะ  และเขตบางขุนเทียน  ซึ่งในปัจจุบันเป็นเขตทุ่งครุ  และเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร  และบางส่วนของสมุทรปราการ  รวมแล้วมีพื้นที่สวนส้มกว่า  60,000 ไร่  นั่นคือจำนวนพื้นที่เมื่อ 30 กว่าปีก่อนมาแล้ว  เหตุที่ทุกวันนี้ “ส้มบางมดหายไปไม่ใช่เพราะไม่มีผู้บริโภคอุดหนุนส้มบางมด แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการที่แหล่งเพาะปลูกส้มบางมด เจอกับปัญหาหนักที่รุมเร้าหลายประการ ภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้นไม้ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน เกิดความเสียหายให้แก่ต้นส้มที่บอบบางทนสภาพไม่ไหว รากเน่าจนล้มตายลงไปในที่สุด ทำให้เกษตรกรขาดทุน อยู่ในภาวะล้มละลาย ประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีก  จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมหนักอีกครั้งหนึ่งในปี  2533  นั่นเท่ากับว่าเป็นการปิดฉากตำนานส้มบางมดเลยก็ว่าได้  ประกอบกับเมื่อความเจริญของเมืองเข้ามาถึง   ด้วยเหตุนี้เองชาวสวนจึงจำใจต้องขายสวน  พื้นที่สวนและคนปลูกส้มจึงลดลงเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีส้มบางมดออกสู่ตลาด  พื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มก็ถูกทิ้งให้รกร้าง และถูกขายให้กลายมาเป็นพื้นที่ของพวกสร้างบ้านจัดสรร และโรงงานไปแทน จึงทำให้จากเมื่ออดีตบางมดที่เป็นแหล่งปลูกส้มบางมดอันลือชื่อ แทบจะกลายเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานกันเท่านั้น

            แต่วันนี้มีเรื่องที่น่ายินดี  เพราะวันนี้ส้มบางมดของแท้ดั้งเดิมกำลังจะกลับมาเพราะชาวสวน

            น่ายินดีที่วันนี้ชาวสวนบางมดที่ยังรักในอาชีพ  และอยากอนุรักษ์ส้มบางมดให้คงอยู่รวมตัวกันในนามกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูสวนส้มบางมด  เพื่อให้ส้มบางมดกลับมาอีกครั้ง  ซึ่งครั้งนี้พวกเขาไม่ทำสวนส้มแบบเดิมที่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี  แต่หันมาใช้วิธีการปลูกส้มแบบผสมผสาน  ด้วยการปลูกพืชผักและผลไม้แซมในสวนส้ม  รวมทั้งการใช้ปุ๋ยและสารกำจัดแมลงแบบชีวภาพที่ทำขึ้นใช้เองจากสมุนไพรพื้นบ้านแทน 

              ลุงประสิทธ์  นาคมาโนช  ชาวสวนบางมด  บอกว่า  นี่เป็นวิธีการทำสวนส้มยุคใหม่      ที่ทั้งใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม  พร้อม ๆ กับปรับปรุง  ดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
             ลุงสุพร  วงศ์จินดา เจ้าของสวนส้ม  บอกว่า  ทุกวันนี้ลุงเช่าพื้นที่กว่า 10 ไร่ ทำสวนเกษตรผสมผสานเลี้ยงปลาในร่องสวน และปลูกผักไว้กินเอง และเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่พยายามฟื้นฟูสวนส้มบางมดให้กลับมาอีกครั้ง โดยลุงเล่าให้ฟังว่า “ลุงเป็นคนนครปฐม ในชีวิตผ่านเรื่องราวมามากมาย แต่งงานกับป้าบุญช่วย  ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวสวนย่านบางมดและปลูกส้มเก่งมาก แต่ในปี พ.. 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เลยพากันเจ๊งหมดเลย ตอนนั้นน้ำท่วมเสร็จ น้ำเค็มก็หนุนขึ้นมา มันจมอยู่ก้นคลอง ดูด้านบนไม่รู้หรอก ส้มมันก็ดูดน้ำเค็มไว้ พอฝนตกห่าเดียว ร่วงหมดเลย เช้าวันรุ่งขึ้นรากก็เน่าหมด” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นลุงสุพรและป้าบุญช่วยได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ป้าบุญช่วยเล่าว่า “ ปีนั้นป้าขายส้มได้แพงมาก 3 ลำ แสน บาทเพราะน้ำมันท่วม แต่สวนเราอยู่ไกลเลยไม่เป็นไร คราวนั้นโละหนี้ได้เยอะ เงินก็ยังเหลือใช้อีกบานเลย” หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ลุงสุพรและป้าบุญช่วยก็ยังคงทำสวนส้มบางมดเรื่อยมา แต่น้ำท่วมใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้สวนส้มบางมดรุ่นสุดท้ายตายหมด 

            ปัจจุบันลุงสุพร ได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรพัฒนาสวนส้มบางมดในฐานะรองประธาน 

            ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ได้มีการฟื้นสวนส้มบางมดให้กลับคืนมา และมีหน่วยงานให้ความสนใจ แต่ชาวสวนส้มบางมดก็ยังคงประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตต่าง ๆ อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่ายากำจัดศัตรูพืช และค่าน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาน้ำเสีย น้ำเน่า ในคลองบางมด รวมไปถึงการเช่าที่ดินทำสวน
            โดยลุงสุพรเล่าให้ฟังว่า “เรื่องที่เช่าทำให้พวกเราไม่กล้าลงทุนอะไรไปมากนัก ได้แต่ปลูกแซมต้นที่ตายไป คือเราทำสัญญาปีต่อปี เขาไม่ให้ขุดดิน ขุดอะไรมาก แล้วก็ไม่แน่ว่าจะขายที่ไปตอนไหน ถ้าเราลงส้มไปเต็มที่ เกิดเจ้าของที่เลิกให้เช่า เราก็เจ๊ง เพราะในสัญญาเขาระบุไว้เลย ห้ามเรียกร้องอะไร อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะปลูกส้มมันต้องใช้เวลา มันต่างจากปลูกอย่างอื่น และเราไม่มีที่ทำกินกัน เพราะเขาจะขายกันหมดแล้ว”  ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของ

             ลุงสัมพันธ์  มีบรรจง ชาวสวนส้มบางมด  เล่าว่า เมื่อความเจริญมาเยือน สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ “ทำส้มทั้งปีไม่รวย แต่ขายที่ดินวันเดียวรวยเร็วกว่า” นอกจากนี้ อาสัมพันธ์ได้พูดถึงภาพสมัยเด็กที่จำได้คือ สวนตัวเองเป็นส้มบางมด รอบสวนเป็นมะพร้าว จึงมีความผูกพันกับวิถีการเกษตร ในขณะที่แม่ไม่อยากให้ทำสวน กลัวลูกลำบาก จึงส่งให้เรียนครูตามความคิดที่ว่า “ต้องเป็นเจ้าคนนายคน” เมื่อเรียนจบแล้ว อาสัมพันธ์ได้รับราชการเป็นครูกว่า 25 ปี จึงลาออกมาทำสวนวนเกษตรตามที่ฝันไว้บนแผ่นดินอันเป็นมรดกของแม่ เป็นการทำสวนที่อาศัยภูมิปัญญาและการค้นคว้าหาความรู้ เรียกว่า “ลองผิด ลองถูก” ด้วยตัวเอง ดีแล้วจึงบอกต่อ รวมทั้ง “พยายามอ่านมาก ๆ เชื่อไม่เชื่อลองดู” โดยใช้วัตถุดิบง่ายที่มีในสวนหากจำเป็นหรือขาดจึงซื้อหา
            การที่จะทำให้สวนส้มในย่านบางมดอยู่ได้อย่างยั่งยืน คงจะต้องให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องโซนนิ่งพื้นที่สีเขียว โดยรับซื้อพื้นที่สวนที่ปล่อยรกร้างที่รอขายให้กับนายทุนหรือนายหน้า เพื่อนำไปจัดสรรให้ชาวสวนคนละ 3 ไร่ ทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าหน่วยงานช่วยอย่างจริงจัง ส้มบางมดจะยั่งยืน ส่วนเรื่องปุ๋ยยานั้นชาวสวนต้องเน้นชีวภาพ ปรับปรุงสภาพดิน  ถ้าดินร่วนซุยดี รากก็จะเจริญดี และทุกคนควรทำยึดหลักตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจ

            ความพยายามของชาวสวนส้มบางมดแท้ ๆ ที่ไม่ได้ทิ้งถิ่นฐานไป  ด้วยความผูกพันธ์กับสวนส้มที่ตนเองเคยอยู่  และมีการ่วมมือช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายหน่วยงานที่ช่วยกันส่งเสริมและฟื้นฟูสวนส้มบางมดให้กลับคืนมา  ถึงแม้ว่าวันนี้สวนส้มบางมดจะไม่ได้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนอย่างแต่ก่อนก็ตาม  แต่หากเราช่วยกันส่งเสริมและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง  เชื่อว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับมากินส้มบางมดที่รสชาติหวานจัดจ้านเหมือนเดิมอย่างแน่  และการกลับมาของส้มบางมดครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การอนุรักษ์พันธุ์พืชเฉพาะถิ่นเท่านั้น  แต่ยังเป็นการฟื้นคืนลมหายใจให้กับผลไม้ไทยและชีวิตของชาวสวนย่านฝั่งธนบุรีอีกด้วย

             































































      

5 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดีมากครับ แต่ผมอยากทราบประวัติความเป็นมาว่าใครนำมาปลูกกันแน่ เนื่องจากตามหาเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ทราบแน่ชัด

    ตอบลบ
  2. อยากจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ไปสัมภาษก์มา คือจะทำข้อมูลเกี่ยวกับส้มบางมดบ้างอ่ะค่ะ พอจะมีข้อมูลที่อยู่ของคุณลุงๆคุณป้ามั้ยคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  3. อยากจะทราบเบอร์ของพี่ลุงๆอ่าครับมีหรือเปล่าครับ เพราะจะเข้าไปสอบถามข้อมูลอ่าครับ

    ตอบลบ
  4. ผมได้อ่านบทความนี้ ต้องบอกว่า จุดประกายให้ผมอีกครั้งนึงจริงๆ ครับ สิ่งที่ผมเกือบลืมไปแล้ว ก่อนหน้านี้ผมพยายามรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับส้มบางมด (ในพื้นที่ย่านบางมด) ไว้พอสมควร ลงไปคุยกับชาวสวน ทำเสาวนาตำนานส้มบางมด ชวนคนไปซื้อไปเที่ยวที่สวนส้ม ทำไปทำมา รู้สึกเหมือนเราเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถทำอะไรให้มีผล impact ได้ เลยค่อยๆ ห่าง ไปเรื่อยๆ เห็นน้องที่เขียนบทความนี้แล้ว เลยอยากเขียนและแชร์ ข้อมูลให้ฟัง วันนี้เลยพยายามจะเขียนบล็อก เรื่อง สืบสานตำนานส้มบางมด เขียนไปเกือบเสร็จแล้ว อยู่ๆ เหมือนเน็ตตัดซะงั้น เซ็งเลย ไว้กลับไปเขียนใน word แล้วค่อยก๊อปมาดีกว่า ขอบคุณสำหรับบทความและเห็นความสำคัญของวิถีเกษตรของไทยครับ

    ตอบลบ